Sunday, September 30, 2012

มะยม (Star Gooseberry)

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Phyllanthus acidus Skeels
มะยมเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูง 5 - 10 เมตร ลำต้นตรงและแตกกิ่งก้านสาขาบริเวณปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย ผิวเปลือกของลำต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล ใบเป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20 - 30 คู่ ใบรูปขอบขนานกลม หรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ ใบกว้าง 1.5 - 3.5 ซม. ยาว 2.5 - 7.5 ซม. ดอกออกเป็นช่อและออกตามกิ่ง ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกัน ดอกตัวผู้เกิดที่ปลายช่อไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ แยกกัน ดอกตัวเมียมีกลีบเพียง 6 กลีบ ผลรูปร่างกลมแบนมี 3 พู ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลืองเมล็ดรูปร่างกลม เห็นเป็นร่องสีน้ำตาลอ่อน
มะยมเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีทั้งที่แดดจัดหรือในที่ร่มรำไร ปลูกในดินร่วนซุย ความชื้นเหมาะสม ปลูกในดินร่วนซุย ความชื้นเหมาะสม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
คุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณ:
สำหรับการใช้ประโยชน์ทางยา แพทย์แผนโบราณมักนิยมใช้รากของมะยมตัวผู้ (มะยมที่ออกดอกเต็มต้นและร่วงหล่นไปไม่ติดลูก) ในการปรุงยากล่าวกันว่ามีคุณภาพดีกว่ามะยมตัวเมีย ราก สรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน ช่วยขับน้ำเหลืองให้แห้ง ประดง ดับพิษเสมหะ โลหิต เปลือกลำต้น สรรพคุณแก้ไข้ทับระดู ระดูทับไข้ ใบ ปรุงเป็นส่วนประกอบของยาเขียว สรรพคุณดับพิษไข้ แก้ไข้ และใบมะยมรวมกับใบมะเฟือง ใบหมากผู้หมากเมียต้มน้ำอาบแก้พิษคัน พิษไข้หัวเหือด หัด ไข้ดำแดง ไข้สุกไส แก้คันได้